*** ฉะสนช.ใช้อำนาจแก้มาตรา7ไม่ให้ความสำคัญคณะสงฆ์ ***

วันที่ 28 ธันวาคม 2559
วันนี้( 28 ธ.ค.) พระพรหมเมธี (จำนง ธัมมจารี) กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) และโฆษกมส. กล่าวถึงกรณี สนช.เข้าชื่อกันจำนวน 84 ราย เพื่อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ในมาตราที่ 7 ว่าด้วยการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ด้วยการเสนอให้ตัดการเสนอสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ออก ว่า การออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้มีการสอบถามมส. ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทย ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ รวมไปถึงคณะสงฆ์ทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่า สนช. คงไม่เห็นความสำคัญของคณะสงฆ์ เปรียบเสมือนกับการตัดเสื้อให้คนอื่นใส่ โดยไม่ได้มาวัดตัวคนที่จะมาสวมใส่ ดำเนินการไปเพียงฝ่ายเดียว เข้าใจว่า สนช.มีอำนาจในการออกกฎหมาย แต่ควรรับฟังความเห็นผู้ที่มีส่วนได้เสียในการออกกฎหมายนั้นๆ โดยข้อเท็จจริงแล้ว ทางฝ่ายคณะสงฆ์กับฝ่ายบ้านเมืองเอง ก็ไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งแต่อย่างใด ซึ่งตนเข้าใจว่า การที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย แสดงว่า ควรจะมีปัญหาเกิดขึ้น แต่ถึงตรงนี้ มส.และคณะสงฆ์ ก็ไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งกับฝ่ายใด แต่ก็ไม่ทราบว่าเรื่องที่เกิดขึ้น สนช.มีเหตุผลใด ที่เข้ามาแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ในขณะนี้
“อาตมาก็ไม่ทราบว่า สนช.จะแก้กฎหมายไปทำไม ขณะนี้ บ้านเมืองก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ผิดปกติ การปกครองภายในคณะสงฆ์ก็ไม่ได้มีปัญหา ซึ่งการทำงานของมหาเถรฯ ก็ล้วนเป็นไปตามหลักกฎหมายบ้านเมือง จารีตประเพณี และพระธรรมวินัย เรื่องนี้ ยังไม่ได้มีการหารือในที่ประชุมมหาเถรฯ อย่างไรก็ตาม จะให้นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ช่วยประสานกับนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลสำนักพุทธฯ ติดตามผลการประชุม สนช. ในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ ต่อไป”โฆษกมส.กล่าว
นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า ในวันที่ 29 ธ.ค. พศ.จะขอติดตามนายออมสิน เพื่อเตรียมตอบข้อซักถามของสนช.เกี่ยวกับ มาตรา 7 รวมทั้งเพื่อรอติดตามผลการหารือระหว่างนายออมสิน และสนช.ว่า จะดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์หรือไม่อย่างไร จากนั้น จะนำข้อสรุปการหารือดังกล่าวรายงานให้มส.ได้รับทราบต่อไป
ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนมีความเห็นแย้งต่อสนช.ดังนี้ 1. พ.ร.บ. คณะสงฆ์ในปัจจุบัน ในมาตรา 7 เขียนไว้ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง" ขอถาม ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สนช. โฆษกวิป สนช. และสมาชิก สนช.ที่ลงชื่อทั้ง 84 คน ว่า ความหมายตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ในปัจจุบันนี้ อำนาจการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชในปัจจุบันเป็นของพระองค์ท่านหรือไม่ เป็นหรือไม่เป็น ตามความหมายและเจตนารมณ์ในมาตรานี้ ท่านจะตอบว่าอย่างไร 2. เพื่อแก้ไขความขัดแย้งนั้น ถามท่านว่า ที่ผ่านมาใครขัดแย้งกับใคร ใครรูปไหนขัดแย้งกับใครในคณะสงฆ์หรือในฝ่ายบ้านเมือง ใครขัดแย้งกันในเรื่องนี้ บอกมาให้ชัดเจน ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ อย่าพูดอะไรลอยๆ แล้วที่ทำแบบนี้มันจะลดความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ 3. เพื่อตัดอำนาจมหาเถรสมาคมออกไป เรื่องนี้ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะ มส. ท่านก็ไม่ได้หวงอำนาจใดๆ ของท่านอยู่แล้ว ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เรียบร้อย ดีงาม ถูกต้องและชอบธรรม ในเรื่องนี้จึงขอให้ถามใจของท่านเองก็แล้วกันว่าทำเพื่ออะไร บริสุทธิ์ใจจริงหรือไม่ ถ้าท่านคิดว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงจุด ท่านกำลังคิดผิดอย่างมหันต์ จึงขอเตือนด้วยความปรารถนาดีว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจอันชอบธรรมของท่าน แต่องค์กรพุทธ และพระสงฆ์ทั่วประเทศก็จะเดินหน้าในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ไม่มีทางเลือกอื่น และขอฝากเรื่องนี้ไปถึงรัฐมนตรี ออมสิน ชีวะพฤกษ์และคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลทุกท่านด้วย
“ ในข้อเท็จจริงความขัดแย้งเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้นไม่เคยมีปรากฎมาก่อน ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย เพราะพระราชอำนาจนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ไม่มีใครก้าวล่วง แต่ขั้นตอนการเสนอตามกฎหมายนั้นให้เป็นของมหาเถรสมาคม (มส.) และรัฐบาล วันนี้ที่เห็นว่ามีความขัดแย้ง ก็เพราะมีกลุ่มคนบางกลุ่ม บางพวก และฝ่ายกุมอำนาจรัฐจับมือกันเข้ามาก้าวก่าย วุ่นวายในกิจการภายในของคณะสงฆ์จนทำให้เกิดมีความขัดแย้งกันขึ้น แล้วชี้มือให้สังคมเห็นว่า เป็นไงคณะสงฆ์มีความขัดแย้งกัน โดยเฉพาะปมการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ฉันจะเข้าไปแก้ปัญหาให้นะ ปัญหาทั้งปวงก็จะยุติ จึงมีการเซ็ตเรื่อง เซ็ตคน เซ็ตปัญหาทั้งหลายทั้งปวงให้เกิดขึ้นแล้วก็โยนบาปมาให้คณะสงฆ์ ตัวเองก็จะเป็นอัศวินม้าขาวเข้ามาแก้ปัญหา”พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าว... อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/education/545559