บุญกิริยาวัตถุ
- อิ่มบุญ
- 2 ธ.ค. 2559
- ยาว 1 นาที

บุญกิริยาวัตถุ คือ สิ่งหรือเรื่องที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำความสุขและการทำความดี บุญ (ปุณย สันสกฤต) แปลว่า ความสุข หรือ ความดี กิริยา แปลว่า การกระทำ หรือ การแสดงออก วัตถุ แปลว่า สิ่ง หรือ เรื่อง
มีสิบประการ ดังนี้
1.ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ ให้อะไร ๆ ที่เป็นผลดี แก่คน หรือ สัตว์ ไม่จำกัดจำนวนหรือเวลา
2.สีลมัย(ศีลมัย) ทำบุญด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี
ศีลของฆราวาสที่ต้องรักษา ด้วยกาย วาจา ใจ คือ
2.1ปาณาติบาต ห้ามฆ่าสัตว์ 2.2 อทินนาทาน ห้ามลักทรัพย์รวมทั้งห้ามยักยอกเบียดบัง ห้ามฉ้อโกงวิ่งราวฉกฉวย ห้ามปล้น การกระทำเหล่านี้ อันได้ไปซึ่งสิ่งที่เป็นรูปร่างและมีราคา รวมทั้งเอกสารเหล่านั้น หรือเอกสารใดๆ ที่ มีราคาทุกประเภทด้วย 2.3 กาเมสุมิจฉาจาร ห้ามประพฤติผิดลูกเมีย ผัว ของผู้อื่น (ห้ามนอกใจ และหรือ ทำลายเด็กหนุ่ม สาวในทางพรหมจรรย์) 2.4 วจีกรรม มุสาวาท ห้ามกล่าวคำเท็จ ปิสุณาย ห้ามพูดส่อเสียด สัมผัปปลาปา ห้ามพูดเพ้อเจ้อ และ ผรุทสาย ห้ามพูดคำหยาบคาย ทั้งกับตนเอง หรือกับผู้อื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง 2.5 สุราเมรัย ห้ามดื่มสุราหรือเหล้า ห้ามดื่มเครื่องดองของเมา มัชชะ ห้ามเสพสิ่งเสพติด เช่น บุหรี่ หมาก ชา กาแฟ น้ำขวดเล็กที่เสริมสร้างพลังงาน และสิ่งที่เสพติดอื่นๆ ทุกชนิด
ศีลของผู้ถืออุโบสถศีลเพิ่มอีกสามข้อ คือ 2.6 วิกาลโภชนา ห้ามกินอาหารเวลาวิกาลคือ หลังเพลแล้ว 2.7 นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสน มาลาคันธวิเลปน ธารณมัณฑนวิภูสนัฎฐานา ห้ามดูการละเล่นดนตรี ระบำ รำฟ้อนและห้ามใช้เครื่องหอมย้อมทาและของประดับสวยงาม 2.8 อุจจาสยนมหาสยนา ห้ามนั่งนอนบนที่นอนสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย และเปลี่ยนข้อ 2.3 เป็นอพรหมจริยา ห้ามประพฤติผิดพรหมจรรย์เด็ดขาด คือ ห้ามเสพกามทุกชนิด ถึงแม้จะเป็นคู่ของเราก็ไม่ได้ ส่วนสามเณรถือศีลสิบข้อ แยกข้อ 2.7 เป็นสองข้อ เพิ่มข้อสิบ ชาตรูปรชต ปฏิคคหณา ห้ามจับต้องเงินทองและของมีค่า ศีลของภิกษุ มี 227 ข้อ ของภิกษุณี 311 ข้อ จะเรียกเป็น วินัย ก็ได้
3. ภาวนามัย ทำ บุญด้วยการเจริญภาวนา หมายถึงหมั่นอบรมจิตใจของเราว่า เราทำอะไรผิด ถูก ในแต่ละวัน มากน้อยขนาดไหน จึงต้องเพียรทำแต่สิ่งที่ดีที่สุดถูกทำนองคลองธรรม ตามจารีตประเพณีที่ดีงาม ในแต่ละวัน แล้วเราก็จะได้อดีตที่หอมหวาน และอนาคตที่มั่นคง
4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อมด้วยกายและวาจา
5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการขวนขวายรับใช้ผู้อื่น โดยเฉพาะกับผู้ที่มีอุปการคุณ หรือคนที่ควรแสดงด้วย(ปัคคันเห ปัคคันหาระหัง)
6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยคุณงามความดีที่เราพึงกระทำให้กับผู้อื่นยามเมื่อโอกาส
7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยความยินดีชื่นชมในความดีของผู้อื่นด้วยการแสดงออกทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งในที่รโหฐานและในที่สาธารณะ
8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมจากผู้แสดงธรรมในทุกรูปแบบ
9. ธัมมเทศนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมแก่ผู้อื่นในทุกสถานการณ์ ทั้งเต็มรูปของสังคม หรือส่วนบุคคล
10. ทิฎฐุชุกัมม์ ทำ บุญด้วยการทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริง ของสิ่งหรือเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้สิ่งที่ถูกต้องเพื่อได้ปฏิบัติให้ถูกต้องสมบูรณ์ อันเกิดหิตานุหิตประโยชน์ทั้งแต่ตนเอง และผู้อื่น และสังคมรวม
จะ เห็นได้ชัดเจนว่า การทำบุญ นั้นไม่จำเป็นต้องแต่งตัวสวย หรือแต่งชุดขาว หรือเครื่องแบบใดๆ และไม่ต้องเตรียมตัวไปรวมกันเพื่อทำบุญ เช่น ไปทำตามวัดตามวันเวลาที่เป็นเทศกาล เช่น วันปีใหม่ วันมาฆะบูชา วันวิสาขะบูชา และหรือวันสำคัญ ๆ อีกหลายวัน เพราะนั่นคือ พิธีการในการทำบุญ ซึ่งได้ประกาศโดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2482 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกัน เป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรมอันดีงามที่ชาติเรามี ให้ต่างชาติเขาชื่นชม ยกย่อง อันเป็นนโยบายชาตินิยม ยุค “มาลานำไทย” ของท่านผู้นำท่านนี้
การไปวัด คือ รูปแบบในการไปทำบุญ ประเภทให้ทานตามข้อ 1 เป็นหลัก ซึ่งเราก็ได้เห็นว่ามีการตักบาตร ถวายสังฆทาน บางวัดมีการตักบาตรพระเคราะห์ สะเดาะพระเคราะห์ แก้ดวง แก้กรรม ทำบุญต่ออายุ อันแล้วแต่ละวัดจะสร้างขึ้นมาจนเป็นที่นิยมในหมู่มหาชน ซึ่งเป็นพิธีกรรมแนวของลัทธิพราหมณ์ ซึ่งติดจิตใจของคนไทยมานานนับพันปี เพราะเรานับถือมาก่อนศาสนาพุทธ อันเป็นสิ่งที่ไม่เสียหาย เพียงแต่เสียเงินเพิ่ม แต่คนไทยเราก็อธิบายว่า เป็น อามิสบูชา เป็นการบูชาชนิดหนึ่งไปเสียอีก
การ ทำบุญตามหลักศาสนาพุทธ ที่กล่าวมา เราทำได้เพียงคนเดียวในทุกสถานที่ ไม่มีรูปแบบ ไม่จำกัดเวลาไม่มีพิธีการให้รุงรัง เมื่อทำแล้วเราก็ได้มีความสุข ความยินดีเกิดในจิตของเราเอง เมื่อเรา “ทำบุญ” วิธีดังกล่าวๆ นานเข้า เราก็เป็นผู้ที่เรียกตนเองว่า “อริยชน” ได้ โดยอัตโนมัติ สมกับที่เราเป็นพุทธมามก คือ สมาชิกที่ตื่น ของศาสนาพุทธ
ถ้า ท่านได้ศึกษาพระพุทธศาสนาให้แตกฉาน ท่านจะเห็นว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ง่ายต่อการมาเป็นสมาชิก แต่ยากในการปฏิบัติ เพราะศาสนาพุทธมีหลักตรงๆ ว่า
สัพพปาปัสสะ อกรณัง ต้องละกระทำความชั่วทั้งปวง
กุศลัสสู ปสัมปทา กระทำแต่ความดีทุกวิถีทาง
สจิตตปริโย ทปนัง ทำจิตใจให้ผ่องใส
ทั้ง สามข้อนี้จะทำได้ต้องถือหลัก สันโดษ คือ พอใจในสิ่งที่ตนมี ที่ได้ และที่เป็นอยู่ ตามฐานานุรูป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์ปัจจุบันได้ทรงโปรดเกล้าให้คนไทยยึดถือในระบบ “เศรษฐกิจพอเพียง”
ซึ่งเป็นพระคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมต่อพสกนิกรไทยกับผู้ที่มาพึ่งบรมโพธิสมภาร ที่เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตนเองและสังคม อย่างแท้จริง
Comments